จับตาการพัฒนา AirMED ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของบุคลากรการบิน

ความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินของไทย คือการทำตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการเดินอากาศ ที่มีหลากหลายสถาบันการบินระหว่างประเทศ กำหนดออกมาใช้ร่วมกันเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากจำกันได้ในราวปี 2559 อุตสาหกรรมการบินของไทยได้เริ่มหยุดชะงักจากการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตัดสินใจให้ธงแดงกับประเทศไทย จากการตรวจรับรองให้กับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท. หรือ CAAT) เนื่องจากตรวจพบข้อบกพร่องด้านข้อมูลของบุคลากรด้านการบิน ได้ระบุสาระสำคัญที่ต้องแก้ไข รวมทั้งด้านเวชศาสตร์การบิน อันเนื่องจากหน่วยผู้ปฏิบัติ ได้แก่สถานพยาบาลที่รัฐกำหนดให้ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของบุคลากรดังกล่าว ไม่มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภาวะสุขภาพอย่างทั่วถึงกัน

ทำให้การเรียกดูประวัติการรักษาของผู้เข้ารับบริการและของแพทย์ผู้ตรวจฯ อาทิ เอกสารข้อมูลใบสำคัญแพทย์ เอกสารการตรวจของผู้รับบริการในแต่ละสถานที่ ไม่สามารถเรียกดูได้เป็นปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยและรักษา ส่งผลต่อการตัดสินใจออกใบอนุญาติหรือระงับการบิน และกระทบต่อความปลอดภัยในการบิน รวมทั้งปัญหาขั้นตอนการรับส่งเอกสารที่ล่าช้า ไม่ครบถ้วน พื้นที่การจัดเก็บเอกสารไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอกับปริมาณของผู้ทำการในอากาศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งยังขาดระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

อีกประการหนึ่งจำนวนบุคลากรแพทย์เวชศาสตร์การบินของประเทศไทยไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และบุคลากรบางส่วนอาจต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล เช่นกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือเกิดอากาศยานอุบัติเหตุ ผู้ปฏิบัติงานต้องการความช่วยเหลือ คำปรึกษาแนะนำที่ทันเวลาและเหมาะสม ณ โรงพยาบาลต้นทาง หรือโรงพยาบาลสนาม หรือการขอลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มิฉะนั้นอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตหรือพิการของผู้ประสบเหตุได้ ด้วยปัญหาเหล่านี้จึงกลายเป็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบสารสนเทศให้สามารถเชื่อมต่อและช่วยบริหารจัดการระบบงานให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

พลอากาศตรี วรงค์ ลาภานันต์ ผู้อำนวยการ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ได้กล่าวถึงการริเริ่มโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ทำการในอากาศ โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการขอรับทุนสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาของบุคลากรทางการบิน พร้อมเทคโนโลยีการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ และการบริการทางการแพทย์ รองรับการใช้งานในวงกว้าง ครอบคลุมสถานพยาบาลในสังกัดกองทัพอากาศ 13 แห่ง

เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การบินในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาจากสถานพยาบาล ตลอดจนพัฒนาศักยภาพด้วยการนำเครื่องมือการตรวจวัดสัญญานชีพ และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตลอดจนการการตรวจทางโลหิตวิทยาเบื้องต้น ที่ทีมแพทย์สามารถนำไปใช้ในภาคสนาม ส่งต่อข้อมูลสู่ระบบคลาวน์ เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นได้อย่างเป็นปัจจุบัน

เชื่อมโยงข้อมูลการรักษา ลดปัญหาติดธงแดง ICAO

สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ได้ทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน คือ

Airmed Plus แอปพลิเคชันสำหรับผู้มารับบริการ ที่ใช้ในการนัดตรวจ รวมข้อมูลและส่งต่อข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลจากสถานพยาบาลทั้ง 13 แห่ง มาแสดงผลบนสมาร์ทโฟน โดยเน้นมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล

Airmed แพทย์ AME แอปพลิเคชันสำหรับแพทย์ผู้ทำการรักษา ทำหน้าที่เสมือนห้องตรวจเคลื่อนที่ มีการยืนยันตัวตนและสถานะก่อนให้บริการทุกครั้ง โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับมาตรฐานการดูแล ผู้ทำการในอากาศให้มีความพร้อมต่อการบิน ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้รับบริการ เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ในเรื่องการติดธงแดงของ ICAO

ด้วยระบบศูนย์ข้อมูลและระบบการให้คำปรึกษา ที่มีต้นแบบของการพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อใช้ในการเรียกดู ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ทำการในอากาศ จากสถานที่ตรวจต่างๆ เช่น อาทิ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ และโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพอากาศ เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ย้อนหลังได้ เช่น ใบสำคัญแพทย์ ผลการตรวจครั้งก่อนจากที่ต่างๆ ที่ผ่านมา เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้านการบิน

นอกจากนี้ยังใช้ในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับทีมแพทย์หรือพยาบาล ผู้ขอคำปรึกษาด้านเวชศาสตร์การบินที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านระบบสมาร์ทโฟน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถรวบรวมภาระงาน และรายละเอียดของการให้คำปรึกษาไว้ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และสามารถนำมาขยายใช้ได้ในวงกว้างโดยไม่จำกัดต่อไปในอนาคต ด้วยขั้นตอนที่มีความปลอดภัยภายใต้การยืนยันตัวตนผ่านบัตรประชาชนในขั้นแรกของการเข้าใช้บริการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนกว่า 1.5 หมื่นคนต่อปีที่เข้ารับบริการที่สถาบันฯ และอีกจำนวนมากของผู้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลอีก 12 แห่งของกองทัพอากาศ

ระบบให้คำปรึกษาด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริงผ่านแท็บเล็ต

Airmed : E-Consultation ระบบให้คำปรึกษาด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริงผ่านแท็บเล็ต พร้อมอุปกรณ์การตรวจวัดสัญญานชีพแบบดิจิทัลที่จะส่งผลเข้าสู่ระบบแบบเรียลไทม์ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่ต้องการความละเอียดและความแม่นยำสูงผ่านแพทย์ทางไกล เพื่อให้แพทย์สามารถให้คำปรึกษาผู้ป่วยวิกฤต เช่น กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ ที่บางครั้งมีอาการหนักมีความเสี่ยงสูงที่จะทรุดลงและเสียชีวิตได้ ดังนั้นการนำระบบการให้คำปรึกษาดังกล่าวจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างแพทย์ในพื้นที่สถานการณ์กับทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ รวมถึงทีมแพทย์ที่มีหน้าที่ลำเลียงทางอากาศยาน เป็นการยกระดับการดูแลผู้ป่วยวิกฤตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภายใต้การดำเนินงานของโครงการนี้ มุ่งขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลกองบินทุกแห่ง และในอนาคตจะเป็นต้นแบบให้กับการปฏิบัติงานทางการแพทย์เวชศาสตร์การบินแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนและการเชื่อมต่อข้อมูลกับรพ.สาธารณสุขต่างๆ (รพ.ต้นทาง/รพ.ปลายทางในการลำเลียงผู้ปวยทางอากาศ) และ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมากในการช่วยรักษาของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ การช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับบริการทางการแพทย์ฯที่มีคุณภาพและเท่าเทียม อีกทั้งระบบจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ทำการในอากาศและผู้เกี่ยวข้องฯ ระบบข้อมูลเอกสาร สามารถรวบรวมฐานข้อมูล สืบค้นข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลผู้ใช้งานทั้งระบบของหน่วยงานทางเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ และของประเทศในอนาคต

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม Airmed มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 6,000 ราย ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากให้กับผู้ทำการรักษาและลดเวลารอคอยของผู้มารับบริการ มีรายงานการรักษาของผู้เข้ารับบริการอย่างสมบูรณ์พร้อม สามารถเข้าใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ และที่สำคัญจะมีความปลอดภัยคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ต้องยืนยันและยินยอมการให้ใช้และเข้าใช้บริการด้วยตัวผู้ขอใช้บริการทุกครั้ง โดยมีแนวทางในการขยายความเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นๆ นอกเหนือจากสถานพยาบาล 13 แห่งที่อยู่ภายใต้โครงการฯ ในสังกัดกองทัพอากาศต่อไป

“ในอนาคตเราสามารถบูรณาการข้อมูลด้านสุขภาพรายบุคคล เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสอดคล้องเฉพาะคน ทั้งยังสามารถสร้างรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพเฉพาะกลุ่ม ด้วยการนำสถิติข้อมูลทางการแพทย์มาวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงป้องกันทางการแพทย์ที่ยั่งยืนต่อไป” พลอากาศตรี วรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ