หัวเว่ย ประเทศไทย รับรางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติ “Thailand Corporates Excellence Awards 2022” สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

ตอกย้ำพันธกิจ มุ่งสร้างอีโคซิสเต็ม พัฒนาบุคลากรไอซีที ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “Thailand Corporate Excellence Awards 2022” สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ (Innovation Excellence) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเป็นผู้มอบรางวัล พร้อมด้วยนายชัยวุฒิธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและนายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมในพิธีที่จัดขึ้น ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น กรุงเทพฯ รางวัลพระราชทานดังกล่าวนี้แสดงถึงความสำเร็จในความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการช่วยส่งเสริมประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน ผ่านการพัฒนาทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและบุคลากรดิจิทัล ยกระดับอีโคซิสเต็มด้านไอซีทีของประเทศไทย ตอกย้ำพันธกิจ “เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)”

ในโอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติในปีนี้ ว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในนามของภาครัฐ ขอแสดงความยินดีกับองค์กรธุรกิจต่าง ๆ สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้น รางวัลนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันในความมุ่งมั่นและความตั้งใจ และขอให้องค์กรมุ่งมั่นพัฒนาและเดินหน้าสู่ความเป็นเลิศ เราจะร่วมมือเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในสังคม รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน”

ด้านนายนิธิ ภัทรโชค ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวเสริม “รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022″ เป็นรางวัลพระราชทานอันทรงเกียรติสำหรับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สำหรับรางวัลสาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นั้นมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกองค์กรจากปัจจัยหลายด้าน โดยพิจารณาจากการพัฒนาในด้านดิจิทัลที่โดดเด่นให้แก่ประเทศในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การเข้าถึงเทคโนโลยีรวมไปถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นของคนในประเทศ โครงการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Start up) การบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงโครงการพัฒนาบุคลากรด้านไอทีต่าง ๆ”

ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ )ประเทศไทย( จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของหัวเว่ยที่ได้รับรางวัลพระราชทาน “Thailand Corporate Excellence Awards 2022” สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ นี้ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและตอบแทนสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ตามพันธกิจ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand” ที่หัวเว่ยพร้อมเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย พร้อมร่วมมือกับภาครัฐบาล พันธมิตรภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาบุคลากรด้านไอที (Digital Talent Development) ให้พร้อมทั้งคุณภาพและปริมาณ ผ่านการยกระดับด้านการศึกษา การให้ความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่การสร้างอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียนที่มีความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับโครงการพัฒนาบุคลากรด้านไอที หัวเว่ย ประเทศไทยได้ริเริ่มและดำเนินการตลอดปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย โครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคม (Digital Bus) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และยกระดับภาคการศึกษาในประเทศไทย โครงการ “Seeds for the Future” และโครงการ “ICT Competition” ที่หัวเว่ยได้สนับสนุนทุนการศึกษาและสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมถึงโครงการหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี่ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม การฝึกปฏิบัติ (Hands-on) และการสร้างการรับรองมาตรฐานสำหรับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการนำกรณีศึกษา (Use-Case) จากประเทศจีนมาเป็นแนวทางในการฝึกอบรมให้ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน และอื่นๆ อีกมากมาย

ที่มา: คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์