เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา บริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ร่วมกับ Palo Alto Networks ได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ”AI Risks & Governance: Building Responsible AI Ecosystem for Government” ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการนำ AI มาใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบในภาครัฐ ทั้งในเชิงนโยบาย โครงสร้าง และแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณจักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด มากล่าวเปิดงานพร้อมสะท้อนให้เห็นทิศทางของ AI ที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่กำลังกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 19% ต่อปี พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมให้รอบด้าน ทั้งในเชิงรับมือความเสี่ยงและการวางระบบที่เชื่อถือได้
ภายในงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายหลายท่าน โดยช่วงเปิดเวทีการบรรยายได้รับเกียรติจาก พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ ภาพรวมนโยบายด้าน AI Governance ทั้งในระดับโลก ระดับอาเซียน และบริบทของประเทศไทยเนื้อหาการบรรยายได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เช่น Singapore National AI Strategy 2.0, Malaysia AI Roadmap, Indonesia AI Vision 2045 ซึ่งล้วนสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของแต่ละประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ควบคู่ไปกับหลักธรรมาภิบาล (Governance)
สำหรับประเทศไทย พลอากาศตรี อมร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อน กรอบจริยธรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Thailand AI Ethics Guidelines) ที่วางรากฐานไว้ด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety) ความเป็นธรรม (Fairness) ความโปร่งใส (Transparency) และ การเคารพสิทธิมนุษยชน (Human Rights Respect) การบรรยายในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ในการบรรยายช่วงที่สอง ได้รับเกียรติจาก ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งเจาะลึกในประเด็น AI Risks ที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนในภาครัฐ เช่น ความลำเอียงของอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) การตัดสินใจโดยระบบอัตโนมัติ (Automated Decision-Making) การรั่วไหลของข้อมูล (Data Privacy) พร้อมเสนอแนวทางพัฒนา AI Governance Framework ที่สอดคล้องกับโครงสร้างภาครัฐไทย ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ โครงสร้างองค์กร (Structure), ยุทธศาสตร์ (Strategy), และการปฏิบัติ (Operations)รวมถึงเครื่องมือที่สนับสนุนการประเมินความพร้อม เช่น AI Readiness Scan, Risk Assessment Toolkit และ Job Redesign Guideline
ปิดท้ายด้วยการเสวนา (Panel Discussion) ที่ผสานมุมมองจากผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) , คุณรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท สยามเอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ดร. ธัชพล โปษยานนท์ Country Director Palo Alto Networks Thailand and Vietnam โดยหัวข้อการเสวนาครอบคลุมประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทิศทางของงานวิจัย AI ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า จุดแข็งของภาครัฐไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพบุคลากร ความท้าทายของการพัฒนา Sovereign AI Cloud ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนแนวทางการกำกับดูแล AI ที่เหมาะสมในระดับประเทศ โดยมีการยกตัวอย่างเครื่องมือสนับสนุนอย่าง AI Governance Toolkit และ Explainability Solutions รวมถึงกรณีการประยุกต์ใช้ AI/ML เพื่อตรวจจับภัยคุกคามในระบบ Sovereign AI Cloud
โดย ดร. ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้มองว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม AI ของภูมิภาค โดยเฉพาะในสาขาที่ต้องอาศัยความเข้าใจในบริบทท้องถิ่น เช่น การเกษตรอัจฉริยะ การบริหารจัดการภัยพิบัติ และการพัฒนา AI ด้านภาษาไทย ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น National AI Platform, Thai AI Cloud รวมถึงนโยบายสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (NIAI) ประเทศไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็น “ผู้พัฒนา” AI ไม่ใช่เพียงแค่ “ผู้ใช้งาน” เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ AI เป็นเครื่องมือที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อย่าง ปลอดภัย เป็นธรรม และเกิดความคุ้มค่าสูงสุด นี่คือวิสัยทัศน์ของเรา ที่ต้องการเห็นเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนประเทศอย่างครอบคลุมและยั่งยืน”
ในขณะเดียวกันทาง คุณรัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท สยามเอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มองว่า “อนาคตของ Cybersecurity กำลังก้าวไปสู่การเป็นระบบที่ Predictive และ Autonomous มากยิ่งขึ้น โดย AI จะสามารถจำลองภัยคุกคามล่วงหน้า (simulate threats) ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง พร้อมทั้งแนะนำแนวนโยบายที่เหมาะสมได้โดยอัตโนมัติ ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากระบบที่ตอบสนองได้รวดเร็ว ภายใต้กรอบของกฎหมายและการควบคุมอธิปไตย (Sovereign Control) และพาร์ทเนอร์ของเราอย่าง Palo Alto Networks และ Nvidia มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ Siam AI ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน Sovereign AI Cloud ที่มาพร้อมกับแนวคิด AI Security by Design ซึ่งจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของประเทศไทยในอนาคต”
จากการเสวนาในหัวข้อดังกล่าวทำให้เราเห็นได้ชัดว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นทั้ง ‘โอกาส’ และ ‘ความท้าทาย’ ที่ภาครัฐและสังคมต้องเผชิญพร้อมกัน ซึ่งภัยคุกคามจาก AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ตัวอย่างเช่น Deepfake ที่สามารถปลอมแปลงตัวตนได้อย่างแนบเนียน การโจมตีที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-driven Attacks) ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะตรวจจับได้ด้วยวิธีการเดิม หรือแม้แต่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือนโดยอัตโนมัติจนยากจะแยกแยะจริงหรือเท็จ สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับกรอบความคิดและวิธีการรับมือใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วและลึกซึ้งยิ่งขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การพัฒนา AI ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในภาครัฐ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานกำหนดนโยบาย นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนพันธมิตรจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพ การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบและมีเป้าหมายร่วม จะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งวางรากฐานให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย และมีอธิปไตยทางดิจิทัลเป็นของตนเองอย่างแท้จริง และในช่วงท้ายของการจัดงานถูกปิดด้วยบรรยากาศกิจกรรม Networking ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนมุมมองอย่างเป็นกันเอง พร้อมสร้างเครือข่ายกับผู้นำในแวดวง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้าง Community ด้าน AI Governance ที่เข้มแข็ง ในประเทศไทยและส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
