รายงาน whitepaper ฉบับใหม่ที่เผยแพร่ในวันนี้ ได้เผยให้เห็นว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งมุ่งยกระดับเศรษฐกิจไทยจากการพึ่งพาการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
อย่างไรก็ตาม รายงาน whitepaper ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ) (ETDA) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) และ SAP ผู้นำตลาดด้านซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ชี้ให้เห็นว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคการผลิตในประเทศไทยเพียง 2% เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนผ่านสู่มาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งที่ศักยภาพในการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยสามารถขยายได้มากถึง 300 กรณีการใช้งานในภาคการผลิต ซึ่งจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคได้
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงลึกที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการนำ AI มาใช้ในภาคการผลิต ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ โดยเฉพาะในด้านการกำกับดูแล AI ทั้งนี้ ความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำอย่าง SAP สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม AI อย่างเต็มที่”
ดร. สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวว่า “AI มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมนวัตกรรม และทำให้เกิดการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ รวมถึงช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย หากมีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายในภาคการผลิต ประเทศไทยจะสามารถสร้างฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศในการเป็นเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและแข่งขันได้ในเวทีโลก”
อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยพร้อมรับประโยชน์มหาศาลจาก AI
การนำ AI มาใช้ในบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้ว่าภาพรวมของภาคธุรกิจไทยในปัจจุบันจะมีการนำ AI มาใช้เพียง 18% แต่คาดว่าภาคการผลิตจะมีการนำ AI มาใช้เพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี พ.ศ. 2568
ธุรกิจการผลิตจะได้รับประโยชน์อย่างมากจาก AI คาดว่า AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์ความต้องการเพื่อลดการสูญเสียยอดขายได้ถึง 65% เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ 20% ผ่านระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรมที่เสริมด้วย AI ลดเวลาหยุดทำงานของเครื่องจักรได้ 20% ผ่านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ และลดพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยในสถานที่ทำงานได้ถึง 90%
ข้อมูลยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ผลิตไทยในการนำ AI มาใช้
แม้ว่าเกือบสามในสี่ (73%) ขององค์กรไทยวางแผนที่จะนำ AI มาใช้ แต่ก็ยังมีความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูล ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการประยุกต์ใช้ AI ในภาคการผลิต
เกือบสองในสาม (65%) ขององค์กรการผลิตระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของข้อมูลว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน (65%) ของผู้ผลิตไทยระบุว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อการนำ AI มาใช้
คุณกุลวิภา ปิยวัฒนเมธา กรรมการผู้จัดการ SAP ประเทศไทย กล่าวว่า “วิธีเดียวที่จะสร้าง Business AI ที่ดีที่สุดได้ คือการใช้ข้อมูลที่ดีที่สุด ปัจจุบันเรามีลูกค้ามากกว่า 34,000 ราย ที่ใช้ SAP Business AI ซึ่งรวมถึงลูกค้าหลายพันรายทั่วเอเชีย พวกเขาได้รับประโยชน์จากการฝังขีดความสามารถของ AI ขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทางธุรกิจ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การตัดสินใจอัตโนมัติ การพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น และประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้วย Business AI ที่เกี่ยวข้อง เชื่อถือได้ และมีความรับผิดชอบ เชื่อมโยงกับความเข้าใจทางธุรกิจอย่างสมบูรณ์และข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุด ผู้ผลิตไทยจึงสามารถวางใจในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความปลอดภัย และการปฏิบัติตามข้อกำหนด พร้อมทั้งตระหนักถึงประโยชน์มหาศาลของยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ทั้งสำหรับธุรกิจของตนเองและสำหรับประเทศ”
กรอบนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโต
รายงาน Whitepaper ยังเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความสำเร็จทั้งในระดับองค์กรและเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการจัดตั้งกรอบกำกับดูแล AI เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ปรับปรุงข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อขจัดความไม่ชัดเจนในการใช้ AI และผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนผ่านคณะอนุกรรมการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ดร. สลิลธร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแกร่งในประเทศไทยต้องเริ่มจากการวางยุทธศาสตร์ด้านการกำกับดูแล AI ทบทวนมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมการทำงานร่วมกันในระดับสากล ภาคธุรกิจจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาเพื่อระบุว่าโซลูชัน AI ใดเหมาะสมกับตนมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจถึงผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่ดี หากดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ ประเทศไทยจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำ AI มาใช้ในภาคการผลิต และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว”
“ด้วยความร่วมมือและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐและองค์กรชั้นนำอย่าง SAP จะสามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0” คุณกุลวิภา กล่าวสรุป “ด้วยนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI เราเชื่อมั่นว่าจะเกิดการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ไม่เฉพาะในภาคการผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ด้วย”